bipolar ระยะซึมเศร้า(depressive episode)

Bipolar Disorder

 

ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า (depressive episode) มีอาการดังต่อไปนี้ เกือบตลอดเวลา และเป็นติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

1.มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้) ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้

2.ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก อะไรที่เคยชอบทำก็จะไม่อยากทำ แรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็จะลดลง

3.น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหาร หรือเจริญอาหารมาก

4.นอนไม่หลับ อาจมีอาการนอนหลับยาก หรือนอนแล้วตื่นเร็วกว่าปกติ อาจนอนหลับ ๆ ตื่น ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนอนหลับมากไป ต้องการนอนทั้งวัน กลางวันหลับมากขึ้น

5.กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

6.อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรงไม่อยากทำอะไร

7.รู้สึกตนเองไร้ค่า บางรายอาจรู้สึกสิ้นหวัง มองสิ่งรอบ ๆ ตัวในแง่มุมที่เป็นลบไปหมด รวมถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย

8.สมาธิ และความจำแย่ลง

9.คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

ในระยะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจติดตาม อะไรๆ ก็ไม่เพลินใจไปหมด คุณยายบางคนหลานๆ มาเยี่ยมจากต่างจังหวัดแทนที่จะดีใจกลับรู้สึกเฉยๆ
บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้เป็นว่าเล่น บางคนจะหงุดหงิด ขวางหูขวางตาไปหมด ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อาการเบื่อเป็นมากจนแม้แต่อาหารการกินก็ไม่สนใจ บางคนน้ำหนักลดฮวบฮาบสัปดาห์ละ 2-3 กก.ก็มี
เขาจะนั่งอยู่เฉยๆ ได้เป็นชั่วโมงๆ ความจำก็แย่ลง มักหลงๆ ลืมๆ เพราะใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจไปเสียหมด เขาจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจตนเอง ถ้าตายไปคงจะดีจะพ้นทุกข์เสียที
หากญาติหรือคนใกล้ชิดเห็นเขามีท่าทีบ่นไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝัง สั่งเสีย อย่ามองข้ามหรือต่อว่าเขาว่าอย่าคิดมาก แต่ให้สนใจพยายามพูดคุยกับเขา รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มากๆ ถ้ารู้สึกไม่เข้าใจหรือมองแล้วไม่ค่อยดี ขอแนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

 

bipolar Major Depressive Episode

 

A. มีอาการดังต่อไปนี้ห้าอาการ (หรือมากกว่า) ร่วมกันอยู่นาน 2 สัปดาห์ และแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไปจากแต่ก่อน: โดยมีอาการอย่างน้อยหนึ่งข้อของ (1) อารมณ์ซึมเศร้า (2) เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข

1.มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน โดยได้จากการบอกเล่าของผู้ป่วย (เช่น รู้สึกเศร้า หรือว่างเปล่า) หรือจากการสังเกตของผู้อื่น (เช่น เห็นว่าร้องให้)
หมายเหตุ: ในเด็กและวัยรุ่นเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้

2.ความสนใจหรือความสุขใจในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน (โดยได้จากการบอกเล่าของผู้ป่วย หรือจากการสังเกตของผู้อื่น)

3.น้ำหนักลดลงโดยมิได้เป็นจากการคุมอาหาร หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ (ได้แก่น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่า
ร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
หมายเหตุ: ในเด็กดูว่าน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็น

4.นอนไม่หลับ หรือหลับมากไปแทบทุกวัน

5.กระสับกระส่าย (psychomotor agitation) หรือ เชื่องข้า (retardation) แทบทุกวัน (จากการสังเกตของผู้อื่น มิใช่เพียงจากความรู้สึกของผู้ป่วยว่ากระวนกระวายหรือช้าลง)

6.อ่อนเพลีย หรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน

7.รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควร (อาจถึงขั้นหลงผิด) แทบทุกวัน (มิใช่เพียงแค่การโทษตนเองหรือรู้สึกผิดที่ป่วย)

8.สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลง หรือตัดสินใจอะไรไม่ได้ แทบทุกวัน (โดยได้ไม่จากการบอกเล่าของผู้ป่วย ก็จากการสังเกตของผู้อื่น)

9.คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อย ๆ (มิใช่แค่กลัวว่าจะตาย) คิดอยากตายอยู่เรื่อย ๆ โดยมิได้วางแผนแน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตายหรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน

B. อาการเหล่านี้ก่อให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือกิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆ ที่สำคัญ บกพร่องลง

C. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสาร (เช่น สารเสพติด ยา) หรือจากภาวะความเจ็บป่วยทางกาย (เช่น ไทรอยด์ต่ำhypothyroidism)

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

 

หน้าหลัก
ความเป็นไปของโรค
การวินิจฉัย
ระยะเมเนีย
ผู้จัดทำ

TOP